นพพล โกมารชุน ศิลปินแห่งชาติ

  • Posted on: 2 November 2022
  • By: webmaster

นพพล โกมารชุน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปีพุทธศักราช 2564 เป็นทายาทศิลปินนักพากย์ นักแสดง เสนอ โกมลารชุน และ จุรี โอศิริ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นักพากย์และนักแสดง ประจำปีพุทธศักราช 2541 เป็นหลานชายของเสน่ห์ โกมารชุน  ศิลปินผู้แต่งเพลง สามล้อแค้นซึ่งถือเป็นเพลงเพื่อชีวิตในยุคแรกๆ ปู่คือนายเตียง โอศิริ หรือ “ ปู่แผ่นเสียง” คนไทยคนแรกที่ทำกิจการแผ่นเสียงในนามห้างฮัมบูรก์สยาม รูปสุนัขยืนฟังลำโพง 

เด็กชายนพพล เติบโตมาในห้องพากย์หนัง ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ติดตามแม่ไปโรงถ่ายภาพยนตร์  และห้องพากย์หนังทั่วพระนคร คาเธ่ย์  ศรีราชวงศ์ แคปปิตอล พัฒนากร เฉลิมบุรี   มื่อเริ่มเรียนอนุบาลที่โรงเรียนพรประสาท แถวฝั่งธน เด็กชายนพพล วัย 5 ขวบ จึงเล่นซนไม่เหมือนเด็กๆทั่วไป  เขาชอบเล่นเป็นผู้กำกับ ฉากที่ชอบเล่นกับเพื่อนๆคือฉากบู๊  นพพลจะเอาไม้ทำการฝีมือมาเลื่อยเป็นปืน เอากล่องชอล์คทรงเหลี่ยมสีกากี มาทากาว  เจาะรู 2 ข้างทำเป็นกล้องถ่ายหนัง  และอยู่หลังกล้อง คอยสั่งให้เพื่อนๆยืน เดิน พูด ไปตามบทบาทที่ใจคิด เรียนชั้นอนุบาล ประถม และมัธยม ที่โรงเรียนพรประสาทวิทยา โรงเรียนสวนบัว และโรงเรียนวัดราชบพิตร  ตามลำดับ นิสัยตั้งแต่เด็กคือ  ดื้อเงียบ  สมัยเรียนประถม  ชอบทำฉาก ถ่ายหนังเอง  และเล่นเป็นผู้กำกับ เพราะไม่เคยมีความคิดที่จะเป็นนักแสดง เข้าเป็นนักเรียนประจำที่ Redrice  School ประเทศอังกฤษ และชนะการประกวดกลอนเป็นที่ 1  ในปีค.ศ. 1974  จบการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยม สาขา มนุษยศาสตร์ เอกวรรณคดี - จิตวิทยา จาก Middlesex  Polytechnic ( London University)     

ในปี พ.ศ. 2521 วันแรกที่กลับมาเยี่ยมบ้าน ได้เจอฉลอง ภักดีวิจิตร ผู้ชักชวนให้มารับบท ลีเจ็ง  พระเอกภาพยนตร์เรื่องใต้ฟ้าสีคราม  โดยพากย์หนังเป็นเสียงตัวเองในเรื่องด้วย ในปีถัดมา  ได้เล่นละครเรื่องแรกคือคนเริงเมือง ของมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช หลังจากนั้น นพพลก็ตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อ เพราะได้เจอในสิ่งที่อยากทำ และรักจะทำวงการบันเทิงจึงมีศิลปินหนุ่มฝีมือดีชื่อ นพพล  โลดแล่น  สร้างผลงานตั้งแต่พ.ศ. 2521  มาจนถึงปัจจุบัน  โทรทัศน์    นับได้กว่า 34 ปี มีผลงานในทุกแขนงตั้งแต่นักแสดง ทั้งภาพยนตร์  ละครโทรทัศน์  ละครเวที  นักพากย์  พิธีกร  และ  ผู้กำกับละครโทรทัศน์   โดยมีผลงานแสดงภาพยนตร์  37 เรื่อง  แสดงละคร 102 เรื่อง   กำกับการแสดงละครโทรทัศน์  34 เรื่อง   กำกับละครเวที 1 เรื่อง ผลงานอำนวยการผลิตละครโทรทัศน์ 50 เรื่อง  พากย์ภาพยนตร์ – สารคดี  มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ยอมรับมาโดยตลอด  ได้รับรางวัลในฐานะนักแสดงดีเด่น  11 รางวัล  รางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม 13  รางวัล   รางวัลจากผลงานกำกับการแสดง  76  รางวัล   รางวัลจากการอำนวยการผลิต  10  รางวัล

 

รางวัลผู้แสดงดีเด่น

1. ผู้แสดงนำยอดนิยมฝ่ายชาย   นพพล  โกมารชุน  รางวัลตุ๊กตาทองทีวีมหาชน จากละครเรื่อง  “สี่แผ่นดิน”   

2. ผู้แสดงนำชายดีเด่น  นพพล  โกมารชุน  รางวัลเมขลา ครั้งที่ 1 จากละครเรื่อง  “สี่แผ่นดิน”   

3.ผู้แสดงนำชายดีเด่น  นพพล  โกมารชุน   รางวัลเมขลา ครั้งที่ 4  จากละครเรื่อง “น้ำตาลไหม้”  

4.ผู้แสดงประกอบชายดีเด่น นพพล  โกมารชุน    รางวัลเมขลา ครั้งที่ 6  จาก ละครเรื่อง  “สายโลหิต” 

5.นักแสดงผู้ใช้ภาษาไทยยอดเยี่ยม  นพพล  โกมารชุน   รางวัลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 8   

6.ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม นพพล  โกมารชุน  รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 15  จากละครเรื่อง หงส์เหนือมังกร 

7.รางวัลนักแสดงนำฝ่ายชาย  นพพล  โกมารชุน   รางวัลเกียรติยศช่อสะอาดประจำปีพ.ศ.2553  จากละครเรื่อง เหนือเมฆ   

8. ดาวร้ายยอดเยี่ยมแห่งปี  นพพล  โกมารชุน  รางวัลสีสันอวอร์ด  ประจำปีพ.ศ. 2554  จากละครเรื่อง  ตะวันเดือด

9.-10.รางวัลในฐานะพระเอกที่สุด ของช่อง 7  นพพล  โกมารชุน  ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน โดย บริษัท เจเอสแอล  จำกัด  

11.ผู้แสดงประกอบชาย ผู้ใช้ภาษาไทยชายดีเด่นราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญ  นพพล โกมารชุน จากละคร ดอกไม้ใต้เมฆ  

 

รางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม

1.ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยมรางวัลโทรทัศน์ทองคำ     นพพล  โกมารชุน   ละครเรื่อง  สุดแต่ใจจะไขว่คว้า     

2.รางวัลโทรทัศน์ทองคำกำกับการแสดงยอดเยี่ยม  นพพล  โกมารชุน    ละครเรื่อง  โสมส่องแสง 

3.กำกับการแสดงยอดเยี่ยม  นพพล  โกมารชุน  TOP AWARDS 2002  ละครเรื่อง เก็บแผ่นดิน

4.กำกับการแสดงยอดเยี่ยม  นพพล  โกมารชุน   Star Entertainment Awards  ละครเรื่อง เก็บแผ่นดิน

5.กำกับการแสดงยอดเยี่ยม  นพพล โกมารชุน   TOP AWARDS 2003  ละครเรื่อง เมืองดาหลา

6.ผู้กำกับการแสดงละครแนวชีวิตยอดเยี่ยม นพพล โกมารชุน   รางวัลเมขลา ละครเรื่อง  แม่อายสะอื้น

7.ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม  นพพล โกมารชุน  TOP AWARDS  2004   ละครเรื่อง  แม่อายสะอื้น

8. ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม    นพพล โกมารชุน  Star  Entertainment  Awards  2004   ละครเรื่อง  แม่อายสะอื้น

9.รางวัลเพชรสยาม  นพพล โกมารชุน   สาขาดนตรีนาฎศิลป์และนันทนาการ ด้านผู้กำกับละครโทรทัศน์  โดย  มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ละครเรื่อง  แม่อายสะอื้น

10.ผู้กำกับการแสดงยอดนิยม   นพพล โกมารชุน   TV GOSSIP AWARDS 2006   ละครเรื่อง  แคนลำโขง

11.ผู้กำกับการแสดงละครยอดเยี่ยม  นพพล   โกมารชุน   STAR ENTERTAINMENT AWARDS  2006  ละครเรื่อง  สายน้ำ  สามชีวิต

12.ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม    นพพล   โกมารชุน    TOP AWARDS 2006  ละครเรื่อง  สายน้ำ  สามชีวิต

13.รางวัลผู้กำกับการแสดงยอดนิยม  นพพล   โกมารชุน  TV GOSSIP AWARDS 2006 ละครเรื่อง  สายน้ำ  สามชีวิต

 

ผลงานกำกับการแสดงของ นพพล  ที่สร้างความฮือฮาคือ  “สุดแต่ใจจะไขว่คว้า”  ที่สร้างดาวประดับวงการ หนุ่มเสก หรือ เสกสรร ชัยเจริญ พร้อมกับ 6 รางวัลโทรทัศน์ทองคำ  ตามด้วยกตัญญูประกาศิต  น้ำตาหยดสุดท้าย  ไฟในดวงตา  และเรื่องที่สร้างดาวดวงใหม่มากฝีมืออย่าง  จอย  ศิริลักษณ์ ผ่องโชค  ในละคร “โสมส่องแสง”  ที่ได้รับอีก 5 รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ชื่อของ นพพล โกมารชุน  จึงถูกการันตีในความเป็นนักแสดงเจ้าบทบาท และผู้กำกับละครคุณภาพ  คำวิจารณ์ด้านบทบาทการแสดงที่โดดเด่น  เนื้อหาเข้มข้น  สะท้อนสังคม จะพบในละครทุกเรื่องที่  นพพล กำกับการแสดง

 

9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 นพพลและคู่ชีวิต ปรียานุช  ปานประดับ เปิดบริษัทผลิตละครขึ้น ในชื่อ เป่าจินจง  เป่า เป็นภาษาจีนกลาง แปลว่า ของวิเศษ  จิน แปลว่า ทอง  จง แปลว่า ระฆัง  เนื่องจากมีเชื้อสายจีนและระฆังหมายถึงเสียงที่ดังเป็นมงคล  ชื่อเป่าจินจง  ระฆังทองวิเศษ  จึงหมายถึงบริษัททำละครที่เน้นสาระบันเทิงอย่างแตกต่าง เป่าจินจงมีผลงานละครเรื่องแรกทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 คือ เรื่อง หัวใจและไกปืน  มีสองนักแสดงนำที่เล่นละครเป็นเรื่องแรกคือ อำพล ลำพูน และ ด.ช.อเล็กซ์ เรนเดลล์  หลังจากนั้น เป่าจินจงก็มีผลงานละครหลากหลายแนวอย่าง คุณชาย  ทิพยดุริยางค์  และ เก็บแผ่นดิน เก็บแผ่นดินคือเรื่องราวการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย ที่กวาดรางวัลจากหลายเวที และแจ้งเกิดพระเอกอีกคนของวงการ ป๋อ ณัฐวุฒิ สกิดใจ    สงครามดอกรัก   บ่วงบรรจถรณ์  แม้เลือกเกิดได้  เมืองดาหลา  เหล่านี้คือผลงานกำกับการแสดงของนพพล  ในขณะที่ดูแลการผลิตละครเรื่องอื่นๆของบริษัทด้วยอย่าง  นางมาร  ครูสมศรี  สัญญาเมื่อสายัณห์ บุญผ่อง จนกระทั่งปี พ.ศ.2546 แม่อายสะอื้น นำแสดงโดย วรนุช วงษ์สวรรค์  สุประวัติ ปัทมสูต  สุฐิตา เรืองรองหิรัญญา ได้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการละคร จากบทบาทที่เชือดเฉือนเข้มข้นของนักแสดง  เรื่องราวบีบคั้นหัวใจความรักของพ่อตาบอดจากคณะรำกับลูกสาว ส่งให้แม่อายสะอื้นได้รับรางวัลมากมายจากทุกสถาบันการประกวดรางวัล  และเป็นที่กล่าวขวัญถึงบทบาทการแสดงของนางเอกยอดนิยม  วรนุช (วงษ์สวรรค์) ภิรมย์ภักดี  ตามมาด้วยละครเรื่อง เพลงผ้า ฟ้าล้อมดาว  ที่เสนอเรื่องการอนุรักษ์ผ้าไหมไทย และ สายน้ำ สามชีวิต ที่นำเสนอความงามสง่าของกระบวนเรือในขบวนพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค  และ เมล็ดข้าว สิ่งสะท้อนความเป็นไทย  ผลงานกำกับของนพพลสอดแทรกประเพณี และวัฒนธรรมของทุกภาคทั่วไทยไว้ เช่นการเป่าแคน วัฒนธรรมเด่นของภาคอีสานในละครเรื่อง แคนลำโขง การร้องลิเกฮูลู ของพี่น้องมุสลิมในละครเรื่อง เหนือทรายใต้ฟ้า  นพพลไม่เคยหยุดยั้งความฝันที่จะเสนอสาระบันเทิง จนทำให้ ฟ้าให้เรามารักกัน  เป็นละครเรื่องแรกของไทยที่ได้ถ่ายทำใน  ราชอาณาจักรภูฏาน (Kingdom of Bhutan)    

 

“ผู้กำกับไม่ใช่คนที่จะมาแสดง แล้วให้นักแสดงก๊อปปี้เรา  แต่จะต้องเป็นคนที่สร้างจินตนาการในหัวคน  พยายามที่จะกล่อมให้เขาเห็นภาพอย่างที่เราต้องการก่อน แล้วให้เขาสร้างงานของเขาขึ้นมาเอง โดยที่เราเป็นคนคอยควบคุมว่าตรงนี้มันเหมาะสมหรือยัง ตรงนี้มันเข้ากับเรื่องที่เราต้องการหรือยัง เป่าจินจงมักทำละครเกี่ยวกับประเพณี  วัฒนธรรมไทย เพราะเป็นความชอบส่วนตัว เราทำละครเพื่อเป็นสื่อกลางให้ผู้ชมภูมิใจในสิ่งที่คนไทยสร้างขึ้น  นุ่น (วรนุช (วงษ์สวรรค์) ภิรมย์ภักดี)  ยังบ่นอยู่ทุกวันนี้  ถ้าแสดงละครของเป่าจินจง ไม่เคยมีเรื่องไหนที่ไม่ต้องฝึกอะไรเลย เราเน้นว่าทีมงานและนักแสดงต้องเรียนรู้จากของจริง เพื่อภาพที่นำเสนอให้คนดูจะได้ไม่ผิดเพี้ยน”

 

“ผมต้องดูโลเคชั่นเอง  ให้รู้ไปเลยว่าดูหมดแล้ว ไม่อย่างนั้นคาใจ  ถ้าเผื่อมีคนมาบอกว่าตรงนั้นตรงนี้สวยกว่า เราจะหงุดหงิดว่าทำไมไม่ไปดู ถามว่าทุ่มทุนขนาดนี้คุ้มไหมบอกได้เลยว่า เจ๊ง !!  เพราะทำละครไม่มีค่า Pre production เพียงแต่เป็นความบ้าของเราเองที่อยากรู้ อยากละเอียด เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด”

 

ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทตลอดชีวิตการทำงาน ทำให้การคัดเลือก สุดยอดละครโทรทัศน์ไทยใน รัชกาลที่ 9” 

มีผลงานกำกับละครโทรทัศน์ของ นพพล โกมารชุน อยู่ 4 เรื่อง

1.สุดแต่ใจจะไขว่คว้า  (ปี พ.ศ.2531)นำแสดงโดย  เสกสรร ชัยเจริญ รอน บรรจงสร้าง ชุดาภา จันทเขตต์   ก้ามปู สุวรรณปัทม์ อารดา ศรีสร้อยแก้ว  สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์  พิศมัย วิไลศักดิ์   วรเชษฐ์  นิ่มสุวรรณ

2.โสมส่องแสง  ปี พ.ศ. 2537 นำแสดงโดย    ฉัตรชัย เปล่งพานิช   มาช่า วัฒนพานิช  พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง    ศิริลักษณ์ ผ่องโชค  

3.เก็บแผ่นดิน (ปี 2543) นำแสดงโดย  ภูธเนศ หงษ์มานพ  พิยดา  อัครเศรณี  ณัฐวุฒิ สกิดใจอรรถพร ธีมากร    ศิววงศ์ ปิยะเกศิน     พลวัฒน์ มนูประเสริฐ

วรเชษฐ์ นิ่มสุวรรณ  อเล็กซ์ เรนเดลล์     อริศรา วงศ์ชาลี   ฮาน่า ทัศนาวลัย

4.แม่อายสะอื้น  (ปีพ.ศ.2546) นำแสดงโดย   วรนุช วงษ์สวรรค์    สุประวัติ ปัทมสูต   สุฐิตา เรืองรองหิรัญญา

 

และมีผลงานแสดงของ นพพล โกมารชุน อยู่ถึง 10 เรื่อง

1.สายโลหิต ได้รับรางวัลผู้แสดงประกอบชายดีเด่น นพพล  โกมารชุน    รางวัลเมขลา ครั้งที่ 6  จาก ละครเรื่อง  “สายโลหิต”

2.สี่แผ่นดิน ได้รับรางวัลผู้แสดงนำยอดนิยมฝ่ายชาย   นพพล  โกมารชุน  รางวัลตุ๊กตาทองทีวีมหาชน จากละครเรื่อง  “สี่แผ่นดิน”    และรางวัล ผู้แสดงนำชายดีเด่น  นพพล  โกมารชุน  รางวัลเมขลา ครั้งที่ 1 จากละครเรื่อง  “สี่แผ่นดิน”   

3.คนเริงเมือง

4.กนกลายโบตั๋น  (นางเอกคือปรียานุช ปานประดับ)

5.แต่ปางก่อน

6.ลอดลายมังกร (นางเอกคือปรียานุช  ปานประดับ)

7.ละครเทิดพระเกียรติ -เพลงของพ่อ   (แสดงร่วมกับปรียานุช  ปานประดับ)

8.ล่า  

9.หงส์เหนือมังกร ได้รับรางวัลผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม นพพล  โกมารชุน  รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 15  จากละครเรื่อง หงส์เหนือมังกร

10.เลือดมังกรตอน หงส์

 

 “ในฐานะนักแสดงอาชีพ เรายึดถือวินัยของการเป็นนักแสดงจากนักแสดงรุ่นอาวุโส   เรารับผิดชอบในงาน ตรงต่อเวลา เราทำทุกอย่างที่ผู้กำกับต้องการโดยไม่มีข้อแม้ใดใดทั้งสิ้น เราทุ่มเทกับการแสดงร้อยเปอร์เซ็นต์  ให้เวลากับมันเต็มที่  ผมให้คิวแล้ว คุณเอาคิวไปเลย คุณจะใช้ผมทำอะไรแล้วแต่คุณ ผมมีเวลาให้คุณทั้งวันทั้งคืน  อีกอย่างคือต้องทำใจให้ว่าง นักแสดงมีหน้าที่ท่องบท เตรียมความเข้าใจกับตัวละคร  แล้วให้ผู้กำกับเป็นคนชี้แนะ เพราะภาพรวมทั้งเรื่องอยู่ในสมองผู้กำกับ ”

 

ในปี พ.ศ.2551  ปรียานุช ปานประดับได้ก่อตั้งวงดนตรีไทย  มโหระทึก ดนตรีลีลา  โดยมี นพพล เป็นนักร้องนำ และ นักดนตรีกรับ วงดนตรีมโหระทึกคือวงดนตรีไทยจิตอาสาที่เปิดการแสดงตามโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ทั้งกรุงเทพมหานคร   สกลนคร  นครศรีธรรมราช ภูเก็ต  ระยอง  ปราจีนบุรี  น่าน  นราธิวาส  ฯลฯ  เพื่ออนุรักษ์ความไพเราะของดนตรีไทย  และใช้เสียงเพลงบำบัดจิตใจผู้ป่วยด้วยดนตรี ให้กำลังใจบุคลาการด้านสาธารณสุขทั้ง แพทย์  พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์  อีกจุดประสงค์หนึ่งของการแสดงตามโรงพยาบาลคือการรับเงินบริจาคจากผู้ชม  เพื่อมอบคืนให้กับโครงการต่างๆที่ขาดแคลนของโรงพยาบาล  โดยเฉพาะโครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้  หรือซื้อเครื่องมือแพทย์  ซึ่งเป็นสิ่งที่นพพลและวงมโหระทึกได้ทำมานานกว่า 14 ปี นอกจากนี้วงมโหระทึกยังมีโอกาสได้ไปส่งเสียงเพลงแห่งกำลังใจแก่เยาวชนผู้บำบัดยาเสพติด  รวมถึงพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย  วงดนตรี มโหระทึก ได้มีโอกาสสำคัญยิ่ง ในการเป็นทูตวัฒนธรรม นำความไพเราะของดนตรีไทยไปสู่สายตาประชาคมโลก โดยเข้าร่วมแสดงในงาน 147  ปีความสัมพันธ์ไทย- อิตาลี ที่ Expo Milan 2015  ณ  สาธารณรัฐอิตาลี  ในวันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2558  และได้รับเสียงชื่นชม ปรบมือจากผู้ฟังชาวต่างประเทศจำนวนมาก สร้างความปลาบปลื้มภูมิใจในฐานะตัวแทนประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากใช้เสียงเพลงให้พลังใจแล้ว  เสียงเพลงของมโหระทึก ยังได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์   โดยวงมโหระทึกได้รับเกียรติร่วมแสดงดนตรีถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   ในงานมหกรรมไผ่เฉลิมพระเกียรติแห่งชาติ  ณ  สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  ระหว่างวันที่ 8 - 15  สิงหาคม พ.ศ.2553 และได้แสดงดนตรีร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา  ในงาน “เพื่อนพึ่ง (ภาฯ)  2555  เฉลิมพระเกียรติมหาราชินี” ณ วังสวนกุหลาบ ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน  ถึง 2 ธันวาคม .พ.ศ. 2555 มโหระทึก ดนตรีลีลา  ยังได้แสดงครั้งประวัติศาสตร์  เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558   นพพล โกมารชุน  ปรียานุช ปานประดับ และนักแสดงจากละครดอกไม้ใต้เมฆ ได้ร่วมร้องเพลง พ่อ และ  ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป  ดังกึกก้องร่วมกับประชาชนที่จงรักภักดี   ณ  หน้าลานพระรูปสมเด็จพระหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก  ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ขณะทรงประทับอยู่ ณ ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช

 

นอกจากผลงานที่ได้รับการยอมรับจากมหาชนในทุกด้านแล้ว  นพพล โกมารชุน ยังเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่วงการบันเทิง เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ศิลปินอื่นๆมาโดยตลอด จนได้รับรางวัลครอบคลุมในทุกด้านอีกด้วย อาทิ รางวัลนักแสดงแต่งกายดีเด่นประจำปี พ.ศ.2529  จากสมาคมช่างตัดเสื้อไทย  รางวัลศิลปินต้นแบบเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่   จัดโดยเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ปีที่ 5  พ.ศ.2557 รวมถึงได้รับเกียรติพิมพ์รอยมือรอยเท้า   ประดับเป็นดาวดวงที่ 125  ณ ลานดารา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่  5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555และได้รับเกียรติเป็นหนึ่งในคนไทย ที่เป็นกรรมการตัดสินภาพยนตร์เทศกาลระดับโลก  Bangkok International Film Festival  2004

 

จากประวัติการทำงานในวงการบันเทิงตลอด 44 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า นพพล โกมารชุน  มีความมุ่งมั่น พัฒนาตน พัฒนางาน รวมทั้งถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ผู้อื่นด้วยความจริงใจ จริงจังมาโดยตลอด ตามปณิธานในการทำงานที่อยากผลิตงาน ผลิตบุคคลากรที่มีคุณภาพแก่วงการบันเทิงไทย

 

“วงการนี้ค่อนข้างสาหัส  ไม่เหมาะกับคนอ่อนไหว ต้องทำตัวให้เป็นหินผา จิตใจแข็งแรง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ทนต่อคำวิจารณ์ ทนต่อคน ทนต่อความผิดหวัง แต่เมื่อผมก้าวเข้ามาด้วยใจแล้ว เจออุปสรรคยังไง ก็ต้องสู้ เพราะถ้ารักจะทำอะไรสักอย่าง มันต้องทุ่มเต็ม ทั้งหัวใจ ทั้งวิญญาณ ทั้งชีวิต เราเป็นธุลี  เป็นจุดเล็กๆจุดเดียวเท่านั้น ไม่ว่าเราจะอยู่หรือเราจะไป อีกหน่อยคนก็ลืม วันหนึ่งก็เหลือแต่งานของเราเท่านั้น บางคนเปิดยูทูป อาจจะรู้สึกว่า  เออ...งานอะไร แปลกดี  อ๋อ .. งานของนพพล”